ช้างคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและผูกพันกับชีวิตของคนไทยมานาน เป็นสัตว์คู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรพบุรุษเพื่อปกป้องเอกราชของชาติ อีกทั้งยังได้รับการเอ่ยถึงในวรรณคดีและสุภาษิตไทยหลายเรื่อง ช้างยังเป็นตัวแทนของความเชื่อ ความศรัทธา โชค วาสนา และสิ่งอันเป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์หลากหลายที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เช่น เทวรูปธนบัตร เครื่องหมายการค้า

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

งานประเพณีที่เกี่ยวกับช้างจังหวัดลำปาง


งานขันโตกช้าง หรือ สะโตกช้าง
จัดขึ้นทุกวันศุกร์-เสาร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ภายในงานจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ การแสดงของช้างขันโตกช้าง และ การกินข้าวแลงขันโตกของผู้ร่วมงาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โทร.๐๕๔๒๔-๗๘๗๑ , ๐๕๔๒๔-๗๘๗๔

งานประเพณีที่เกี่ยวกับช้างจังหวัดนครปฐม

งานเลี้ยงบุฟเฟต์ช้างและประกวดราชินีช้าง
จัดขึ้นในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ ๑ พฤษภาคมของทุกปี ที่ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณแก่ช้างภายในฟาร์ม มีการประกวดราชินีช้างของสาวหุ่นตุ้ยนุ้ย เพื่อหาผู้ที่สามารถถ่ายทอดบุคลิก ความน่ารักอ่อนโยน นุ่มนวลแบบช้าง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.๐๓๔๓๑-๑๙๗๑ , ๐๓๔๓๒-๑๔๗๑

งานประเพณีที่เกี่ยวกับช้างจังหวัดสุโขทัย


ประเพณีแห่นาคด้วยช้าง ชาวหาดเสี้ยว
เรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า "บวชช้าง" เป็นงานอุปสมบทของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย งานมีวันที ๗-๘ เมษายนของทุกปี วันที่ ๗ เป็นวันแห่นาค ถือว่าเป็นวันสำคัญ ส่วนวันที่ ๘ เป็นวันอุปสมบทหมู่ จะแห่นาคด้วยขบวนช้างประมาณ ๒๐-๓๐ เชือก

พิธีจะเริ่มจากการโกนหัว อาบน้ำนาค และ แต่งตัวนาค และช้างอย่างสวยงาม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย โทร.๐๕๕๖๗-๑๔๖๖ หรือ ททท.สำนักงานภาคเหนือ เขต ๓ (พิษณุโลก) ๐๕๕๒๕-๒๗๔๒-๓ , ๐๕๕๒๕-๙๙๐๗

งานประเพณีที่เกี่ยวกับช้างจังหวัดสุรินทร์



งานบวชนาคช้าง เดือน ๖
จัดขึ้นที่บ้านตากลาง เมื่อใกล้วันวิสาขบูชาชาวกูย ที่นำช้างออกไปหากินต่างถิ่นจะนำช้างกลับภูมิลำเนาเพื่อร่วมงานบุญสำคัญในเดือน ๖ คือ งานบวชนาคช้าง ในประเพณีนี้ช้างซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวกูยจะได้เข้าร่วมบวชด้วย ความโอฬารตระการตาของขบวนนาคที่นั่งบนหลังช้างซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม ท่ามกลางเสียงดนตรีและเสียงเป่าสแนงเกล เป็นภาพอันแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวกูยกับช้างได้อย่างดี


ภายในงานจะมีการแสดงของช้าง แข่งขันช้างว่ายน้ำ การโพนช้าง หรือ จับช้างป่าในอดีต การประกวดขบวนแห่นาคช้าง แข่งขันจุดบั้งไฟรวมถึงการทัวร์หมู่บ้านช้างชมวิถีชีวิตชาวกูย สำหรับการแห่นาคจะมีการทำพิธีบริเวณวังทะลุ ซึ่งเป็นบริเวณวังน้ำวน เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำสองสายทำให้เกิดดินดอนขึ้นตรงกลาง มีแม่น้ำล้อมรอบ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สิมน้ำ" จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า "ดอนบวช" ติดปากมาจนปัจจุบัน

พิธีแต่งงานบนหลังช้าง
จัดขึ้นที่บ้านตากลาง การจัดพิธีแต่งงานแบบชาวกูย หรือ พิธี "ชัดเต" ถือว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เนื่องจาก "ช้าง" เป็นสัตว์ที่เป็นมงคลเฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์ อดทน กล้าหาญ และสุภาพ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างอเนกอนันต์ การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างเป็นการสื่อความหมายในวันแห่งความรัก คู่สมรสทั้งชาวไทยและต่างชาติจะได้ร่วมพิธีแต่งงานแบบโบราณของชาวกูยซึ่งอนุรักษ์สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน การจัดพิธีซัดเตจึงแสดงถึงการครองชีวิตคู่ของคู่สมรสให้อยู่กันอย่างมีความสุขจนแก่เฒ่า นับว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้คู่สมรสได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การเดินทาง..จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ท่าตูม) ถึงกิโลเมตรที่ ๔๒ เลี้ยวซ้ายสู่บ้านตากลางอีก ๒๒ กิโลเมตร ประเพณีบวชนาคช้างจัดขึ้นในช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่ตรงกับเดือนพฤษภาคม


งานช้างและงานกาชาดจังหวัดสุรินทร์
จัดขึ้นช่วงสัปดาห์ที่สามในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ สนามกีฤาศรีณรงค์ ในงานจะมีจัดประกวดโต๊ะอาหารช้าง จัดขบวนแห่ต้อนรับช้าง เลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการแสดงของช้าง เช่น การคล้องช้างการชักเย่อคนกับช้าง ช้างแข่งฟูตบอล ขบวนช้างศึก รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง ได้แก่ เรือมอันเร กันตรึม ฯลฯ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑ (นครราชสีมา) โทร.๐๔๔๒๑-๓๖๖๖

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(กาญจนบุรี)

จังหวัดกาญจนบุรี..หมู่บ้านช้างไทรโยค
ตั้งอยู่ปมู่ที่ ๓ บ้านลุ่มผึ้ง ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค มีกิจกรรมล่องแพ

ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน

ตั้งอยู่ริมถนนเถชรเกษม กิโลเมตรที่ ๓๐ ห่างจากสวนสามพราน ๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ไร่

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(พระนครศรีอยุธยา)

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา..วังช้างอยุธยา แลเพนียด
อยู่ติดกับเพนียดคล้องช้าง มีช้างอาศัยอยู่ประมาณ ๑๐๐ เชือก ส่วนใหญ่เป็นช้างที่ต้องพักผ่อน

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(จังหวัดชลบุรี)

จังหวัดชลบุรี..หมู่บ้านช้างพัทยา
เป็นสถานที่ฝึกช้างที่เคยทำงานในป่ามาเป็นช้างสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยว

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(สุรินทร์)

จังหวัดสุรินทร์..หมู่บ้านช้างตากลาง
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ และ ๑๓ บ้านตากลาง ตำพลกระโพ อำเภอท่าตูม

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(ลำปาง)

จังหวัดลำปาง..ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อยู่ในความดูแลของฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(เชียงราย)

จังหวัดเชียงราย..ชี่ช้างเที่ยวบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร

ปางช้างที่สำคัญในเมืองไทย(เชียงใหม่)

จังหวัดเชียงใหม่..ศูนย์ฝึกช้างเชียงดาว

เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างเพื่อใช้ในงานชักลากไม้ของงานอุตสาหกรรมป่าไม้

ลักษณะของช้างดี

ช้างที่มีลักษณะดีจะมีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง หัวโต แก้มเต็ม หน้าผากกว้าง ดวงตาแจ่มใส ขา แข็งแรง บริเวณกลางหลังจะสูงเล็กน้อย แล้วลาดลงอย่างสม่ำเสมอไปทางหาง ลักษณะของหลังช้างเช่นนี้เรียกว่า "แปก้านกล้วย" เป็นลักษณะของหลังช้างที่ดีที่สุด เวลายืนหัวจะเชิดขึ้นดูสง่า งา..จะยื่นออกมาสม่ำเสมอ ไม่บิดเบี้ยว และ ไม่ห่างกันเกินไป ชายใบหูเรียบ ไม่ฉีกขาด ช้างที่มีสุขภาพดีจะยืนแกว่งและพับหูไปมาอยู่เสมอ เล็บเท้ามีเหงื่อซึมจากโคนเล็บ สักเกตได้จากรอยเปียกของฝุ่นที่เกาะบริเวณเท้าช้าง

ที่อยู่ของช้างไทย

ในประเทศไทยมีช้างป่าอยู่แทบทุกภาคที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ พบมากในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทัยธานี สระบุรี ปราจีนบุรี และ จังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ช้างป่ามักอยู่รวมกันเป็นฝูงในแหล่งที่มีหญ้าและน้ำอุดมสมบูรณ์ อาจพบฝูงช้างตั้งแต่ ๓๐-๕๐ ตัว ถ้าภูมิประเทศแห้งแล้ง จำนวนช้างในฝูงอาจมีเพียง ๑๐-๒๐ ตัว จ่าฝูงเป็นช้างตัวเมียที่เรียกว่าแม่แปรก จะเดินนำหน้าคอยปกป้องอันตรายให้แก่ช้างในฝูง ตลอดจนนำไปหาอาหารในแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนช้างที่แยกไปอยู่ตามลำพัง เรียกว่า ช้างโทน มักจะเป็นช้างที่ดุร้าย ช้างไทยชอบอากาศเย็น จึงมีอาศัยอยู่ตามละเมาะไม้ที่มีห้วยและลำธาร ไม่ชอบแดดจัด ช้างชอบอาบน้ำบ่อย ๆ ลอยคออยู่ในน้ำได้นาน และว่ายน้ำได้ดี ถึงแม้น้ำจะลึกมาก ช้างก็สามารถชูงวงขึ้นหายใจได้สะดวก ในเวลากลางวันที่แดดร้อนจัด ช้างจะหลบตามใต้ต้นไม้ หากอากาศร้อนมากช้างจะใช้งวงล้วงลึกเข้าไปในปาก เพื่อดูดน้ำจากกระเพาะและพ่นน้ำไปตามลำตัวเพื่อให้ผิวหนังเปียก ลดความร้อนให้แก่ร่างกาย

การตั้งท้องและตกลูก

ช้างตัวเมียที่ร่างกายสมบูรณ์จะเริ่มมีลูกได้ตั้งแต่อายุ ๑๕ -๑๖ ปีขึ้นไปจนถึง ๕๐ ปี

ร่างกายของช้าง

งวงช้าง..คือ จมูกของช้าง มีความยาวจดพื้น ใช้สำหรับหายใจ จึบ ดึง ยก ลากสิ่งของต่าง ๆรวมทั้งหยิบอาหารเข้าปาก ปลายงวงมีรู ๒ รู กลวงตลอดความยาวของงวง งวงช้างไม่มีกระดูกแข็งอยู่ภายใน จึงมีลักษณะอ่อนและแกว่งไปมาได้ง่าย เมื่อต้องการกินน้ำ ช้างจะใช้งวงดูดน้ำเข้าไปเก็บในวงวก่อน แล้วจึงพ่นน้ำจากงวงเข้าปากอีกต่อหนึ่ง

งา..คือฟันหน้าหรือเขี้ยวของช้าง งอกออกจากขากรรไกรข้างละกิ่ง งาช้างมีสีขาวนวล เริ่มโผลให้เห็นเมื่อช้างอายุประมาณ ๒-๕ ปี งาช้างเป็นสิ่งที่สวยงามและมีราคามากที่สุดในตัวช้าง งาช้างที่สวยจะมีความโค้งเรียบสม่ำเสมอจนเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ช้างใช้งาเป็นอาวุธสำหรับป้องกันตัว งาช้างมี ๒ ชนิด คืองาปลี มีความยาวไม่มาก แต่มีขนาดใหญ่ วัดโดยประมาณ ๑๕ นิ้วขึ้นไป งาเครือ หรืองาหวาย เป็นงาที่มีลักษณะยาวรี มีความกว้างโดยรอบไม่ถึง ๑๔ นิ้ว

นัยน์ตา..ช้างมีนัยน์ตาเล็กมากเมื่อเทียบกับรูปร่างอันสูงใหญ่ แต่ก็สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไกลและชัดเจน

ใบหู.. มีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่คล้ายพัดโบกไปมาอยู่เสมอ เมื่อช้างกางใบหูออกจะได้ยินเสียงจากที่ไกล ๆ ได้ดีขึ้น ช้างที่มีอายุมากใบหูจะม้วนลงมา ขอบล่างมักเว้าแหว่งขอบใบหูที่เว้าแหว่งนี้อาจใช้คาดคะเนอายุของช้างได้คร่าว ๆ ถ้าเว้าแหว่งน้อยแสดงว่าอายุยังน้อย ถ้าเว้าแหว่งมากแสดงว่าอายุมาก

หาง..หางช้างมีลักษณะกลมยาวเรียวลงไปถึงเข่า ที่ปลายหางมีขนเส้นโตดำ ยาวประมาณ ๔-๖ นิ้ว เรียงกัน ๒ แถวตลอดความยาวของหางประมาณ ๖-๗ นิ้ว

เล็บ..ช้างมีนิ้วเท้าสั้นที่สุดจนเห็นอุ้งเท้า มีเล็บโผลให้เห็นเป็นบางเล็บ ช้างส่วนมากมี ๑๘ เล็บ คือ เท้าหน้าข้างละ ๕ เล็บ เท้าหลังข้างละ ๔ เล็บ ช้างบางตัวมี ๑๖ เล็บ ในขณะที่บางตัวมีถึง ๒๐ เล็บ

เรื่องน่ารู้ของช้าง

ช้างในโลกมีอยู่ ๒ ตระกูลใหญ่ ๆ คือ ช้างเอเชียและช้างแอฟริกา ช้างไทยนั้นเป็นหนึ่งในช้างเอเซีย มีลักษณะดี สวยงาม และฉลาด มีผิวหนังสีเทาปนน้ำตาลเหลืองอ่อน มีรอยย่นทั่วไปไม่ลึกเหมือนช้างแอฟริกา ขาไม่เรียวมาก เท้าหน้ามีเล็บเล็ก ๆ ๕ เล็บ เท้าหลังมีเล็บ ๔ เล็บ หางมีหลายพู่ ชนสั้น เมื่อมองดูด้านหน้าจะเห็นหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม หน้าผากมีโหนก ๒ โหนก งวงได้รูปกลมสวย ไม่เรียวแหลมนักปลายงวงมีวงกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเรียกว่า "ช่องวง" ช้างไทยกินอาหารวันละ ๒๕๐ กิโลกรัม ช้างไทยจะเดินช้า แม้จะดุเช่นสัตว์ป่าทั่วไป แต่ขี้อายกว่าช้างแอฟริกา ช้างสามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้เร็วแม้จะอยู่ห่างไกลหลายกิโลเมตร ช้างจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ ๑๒ ปีขึ้นไป จะโตเต็มที่และแข็งแรงที่สุดเมื่ออายุ ๒๕-๔๕ ปี ช้างไทยอายุเฉลี่ยประมาณ ๖๐ ปี

ช้างกับธงชาติไทย

ช้างเริ่มเกี่ยวพันกับธงชาติไทยมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงได้ช้างเผือกมา ๓ เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงมีพระราชโองการให้มีรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าของไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกต ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรสีแดงออก เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดงเท่านั้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) กำหนดธงต่าง ๆ ถึง ๑๓ ชนิด นับเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับแรกของประเทศไทย ในพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดธงชาติไทยไว้เป็นที่แน่นอน เรียกว่า "ธงชาติสยาม" มีลักษณะเป็นรูปธงช้างเผือกพื้นสีแดง ใช้สำหรับเรือกำปั่นและเรือทั้งหลายของพ่อค้าทั่วไป ส่วนเรือหลวงใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงด้านบนมีจักรสำหรับชักท้ายเรือพระที่นั่ง