ช้างคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและผูกพันกับชีวิตของคนไทยมานาน เป็นสัตว์คู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรพบุรุษเพื่อปกป้องเอกราชของชาติ อีกทั้งยังได้รับการเอ่ยถึงในวรรณคดีและสุภาษิตไทยหลายเรื่อง ช้างยังเป็นตัวแทนของความเชื่อ ความศรัทธา โชค วาสนา และสิ่งอันเป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์หลากหลายที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เช่น เทวรูปธนบัตร เครื่องหมายการค้า

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ช้างกับธงชาติไทย

ช้างเริ่มเกี่ยวพันกับธงชาติไทยมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงได้ช้างเผือกมา ๓ เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงมีพระราชโองการให้มีรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าของไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกต ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรสีแดงออก เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดงเท่านั้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) กำหนดธงต่าง ๆ ถึง ๑๓ ชนิด นับเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับแรกของประเทศไทย ในพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดธงชาติไทยไว้เป็นที่แน่นอน เรียกว่า "ธงชาติสยาม" มีลักษณะเป็นรูปธงช้างเผือกพื้นสีแดง ใช้สำหรับเรือกำปั่นและเรือทั้งหลายของพ่อค้าทั่วไป ส่วนเรือหลวงใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงด้านบนมีจักรสำหรับชักท้ายเรือพระที่นั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น