ช้างคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย
ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและผูกพันกับชีวิตของคนไทยมานาน เป็นสัตว์คู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรพบุรุษเพื่อปกป้องเอกราชของชาติ อีกทั้งยังได้รับการเอ่ยถึงในวรรณคดีและสุภาษิตไทยหลายเรื่อง ช้างยังเป็นตัวแทนของความเชื่อ ความศรัทธา โชค วาสนา และสิ่งอันเป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์หลากหลายที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เช่น เทวรูปธนบัตร เครื่องหมายการค้า
วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ที่อยู่ของช้างไทย
ในประเทศไทยมีช้างป่าอยู่แทบทุกภาคที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ พบมากในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทัยธานี สระบุรี ปราจีนบุรี และ จังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ช้างป่ามักอยู่รวมกันเป็นฝูงในแหล่งที่มีหญ้าและน้ำอุดมสมบูรณ์ อาจพบฝูงช้างตั้งแต่ ๓๐-๕๐ ตัว ถ้าภูมิประเทศแห้งแล้ง จำนวนช้างในฝูงอาจมีเพียง ๑๐-๒๐ ตัว จ่าฝูงเป็นช้างตัวเมียที่เรียกว่าแม่แปรก จะเดินนำหน้าคอยปกป้องอันตรายให้แก่ช้างในฝูง ตลอดจนนำไปหาอาหารในแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนช้างที่แยกไปอยู่ตามลำพัง เรียกว่า ช้างโทน มักจะเป็นช้างที่ดุร้าย ช้างไทยชอบอากาศเย็น จึงมีอาศัยอยู่ตามละเมาะไม้ที่มีห้วยและลำธาร ไม่ชอบแดดจัด ช้างชอบอาบน้ำบ่อย ๆ ลอยคออยู่ในน้ำได้นาน และว่ายน้ำได้ดี ถึงแม้น้ำจะลึกมาก ช้างก็สามารถชูงวงขึ้นหายใจได้สะดวก ในเวลากลางวันที่แดดร้อนจัด ช้างจะหลบตามใต้ต้นไม้ หากอากาศร้อนมากช้างจะใช้งวงล้วงลึกเข้าไปในปาก เพื่อดูดน้ำจากกระเพาะและพ่นน้ำไปตามลำตัวเพื่อให้ผิวหนังเปียก ลดความร้อนให้แก่ร่างกาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น