ช้างคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและผูกพันกับชีวิตของคนไทยมานาน เป็นสัตว์คู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรพบุรุษเพื่อปกป้องเอกราชของชาติ อีกทั้งยังได้รับการเอ่ยถึงในวรรณคดีและสุภาษิตไทยหลายเรื่อง ช้างยังเป็นตัวแทนของความเชื่อ ความศรัทธา โชค วาสนา และสิ่งอันเป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์หลากหลายที่ปรากฎในชีวิตประจำวัน เช่น เทวรูปธนบัตร เครื่องหมายการค้า

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

งานประเพณีที่เกี่ยวกับช้างจังหวัดสุรินทร์



งานบวชนาคช้าง เดือน ๖
จัดขึ้นที่บ้านตากลาง เมื่อใกล้วันวิสาขบูชาชาวกูย ที่นำช้างออกไปหากินต่างถิ่นจะนำช้างกลับภูมิลำเนาเพื่อร่วมงานบุญสำคัญในเดือน ๖ คือ งานบวชนาคช้าง ในประเพณีนี้ช้างซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวกูยจะได้เข้าร่วมบวชด้วย ความโอฬารตระการตาของขบวนนาคที่นั่งบนหลังช้างซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม ท่ามกลางเสียงดนตรีและเสียงเป่าสแนงเกล เป็นภาพอันแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวกูยกับช้างได้อย่างดี


ภายในงานจะมีการแสดงของช้าง แข่งขันช้างว่ายน้ำ การโพนช้าง หรือ จับช้างป่าในอดีต การประกวดขบวนแห่นาคช้าง แข่งขันจุดบั้งไฟรวมถึงการทัวร์หมู่บ้านช้างชมวิถีชีวิตชาวกูย สำหรับการแห่นาคจะมีการทำพิธีบริเวณวังทะลุ ซึ่งเป็นบริเวณวังน้ำวน เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำสองสายทำให้เกิดดินดอนขึ้นตรงกลาง มีแม่น้ำล้อมรอบ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สิมน้ำ" จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า "ดอนบวช" ติดปากมาจนปัจจุบัน

พิธีแต่งงานบนหลังช้าง
จัดขึ้นที่บ้านตากลาง การจัดพิธีแต่งงานแบบชาวกูย หรือ พิธี "ชัดเต" ถือว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เนื่องจาก "ช้าง" เป็นสัตว์ที่เป็นมงคลเฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์ อดทน กล้าหาญ และสุภาพ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างอเนกอนันต์ การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างเป็นการสื่อความหมายในวันแห่งความรัก คู่สมรสทั้งชาวไทยและต่างชาติจะได้ร่วมพิธีแต่งงานแบบโบราณของชาวกูยซึ่งอนุรักษ์สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน การจัดพิธีซัดเตจึงแสดงถึงการครองชีวิตคู่ของคู่สมรสให้อยู่กันอย่างมีความสุขจนแก่เฒ่า นับว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้คู่สมรสได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การเดินทาง..จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ท่าตูม) ถึงกิโลเมตรที่ ๔๒ เลี้ยวซ้ายสู่บ้านตากลางอีก ๒๒ กิโลเมตร ประเพณีบวชนาคช้างจัดขึ้นในช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่ตรงกับเดือนพฤษภาคม


งานช้างและงานกาชาดจังหวัดสุรินทร์
จัดขึ้นช่วงสัปดาห์ที่สามในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ สนามกีฤาศรีณรงค์ ในงานจะมีจัดประกวดโต๊ะอาหารช้าง จัดขบวนแห่ต้อนรับช้าง เลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการแสดงของช้าง เช่น การคล้องช้างการชักเย่อคนกับช้าง ช้างแข่งฟูตบอล ขบวนช้างศึก รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง ได้แก่ เรือมอันเร กันตรึม ฯลฯ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑ (นครราชสีมา) โทร.๐๔๔๒๑-๓๖๖๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น